ประวัติวัดไร่ขิง


             วัดไร่ขิง ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำท่าจีนหรือเรียกอีกชื่อว่าแม่น้ำนครชัยศรี ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างโดย "สมเด็จพระพุทธฒาจารย์(พุก )" มีหลวงพ่อวัดไร่ขิงซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ที่ชาวนครปฐมเคารพนับถือ ระหว่างวันขึ้น13คำ ถึงแรม 3คำ เดือน5 และช่วงเทศการตรุษจีนทุกปี จะมีงานเทศกาลนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิงประจำปี ซึ่งเป็นงานใหญ่ของชาวนครปฐม เดิมเป็นวัดราษฏร์ ต่อมาจึงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2533

                วัดไร่ขิง หรือ วัดมงคลจินดาราม ตั้งอยู่ที่อำเภอสามพรานห่างจากกรุงเทพฯ 32 กม. มีทางเข้า 3 ทาง คือ ทางแยกหน้าสถานี ตำรวจโพธิ์แก้ว ทางแยกหน้าสวนสามพราน และทางแยกพุทธมณฑลสาย 5 วัดไร่ขิง เป็นวัดราษฎร์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2334 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) เรียกชื่อวัดตามชื่อตำบล เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาปูนมาประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิงด้วย ปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ พุทธลักษณะเป็นสมัยเชียงแสน สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยไทยล้านนา และล้านช้าง ตามตำนาน เล่าว่าลอยน้ำมา และอัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดศาลาปูน วัดไร่ขิงนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชทานนามให้ว่า วัดมงคลจินดาราม(ไร่ขิง) แต่ชาวบ้านเรียกกันเต็ม ๆ ว่าวัดมงคลจินดารามไร่ขิง จนกระทั่งเหลือแต่ชื่อวัดไร่ขิงไปในที่สุด วัดไร่ขิง เป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดี นิยมเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงกันอยู่เสมอ ทุกวันอาทิตย์จะมีตลาดนัดอาหารและผลไม้จำหน่ายหน้าวัด และที่บริเวณริมแม่น้ำหน้าโบสถ์จะมีชาวสวนพายเรือนำผลไม้มาขาย และบริเวณริมแม่น้ำหน้าโบสถ์นี้เป็นเขตอภัยทาน ร่มรื่น มีปลาสวายตัวโตนับพันอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อขนมปังเลี้ยงปลาได้ และยังมีก๋วยเตี๋ยวเรือ (หมู) รสเลิศขายทุกวัน นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ของเก่า รวบรวมของเก่าเช่นถ้วยชาม หนังสือเก่า ซึ่งชาวบ้านนำมาถวายวัดจัดแสดงไว้ ในระหว่างวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 3 ค่ำเดือน 5 ของทุกปี ทางวัดไร่ขิงจะจัดงานนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้น มีการออกร้านและมหรสพมากมาย

        คนรุ่นเก่าได้เล่าสืบต่อกันมาว่า วัดไร่ขิงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2394 โดยพระธรรมราชานุวัตร (พุก) ชาวเมืองนครชัยศรี มณฑลนครชัยศรี (ต่อมา ท่านได้รับสถาปนาสมศักดิ์เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก)) ในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนวรวิหาร ท่านได้กลับมาสร้างวัดไร่ขิงและวัดดอนหวาย ซึ่งเป็นบ้านโยมบิดาและมารดาของท่าน แต่ยังไม่แล้วเสร็จ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) มรณภาพเมื่อปี วอก พ.ศ. 2427 รวมสิริอายุ 91 ปี พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 5 ปีระกา พ.ศ. 2428 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มาพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุพิเศษวัดศาลาปูน ดังนั้น งานทุกอย่างจึงตกเป็นภาระของพระธรรมราชานุวัตร (อาจ จนฺทโชโต) เจ้าอาวาสวัดศาลาปูนรูปที่ 6 ซึ่งเป็นหลานชายของท่าน แต่ไม่ทราบว่าท่านกลับมาปฏิสังขรณ์วัดเมื่อใดหรือท่านอาจจะมาในปี พ.ศ. 2453 ตอนที่ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมราชานุวัตรก็อาจเป็นไปได้ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุ 75 ปี และเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนรูปที่ 6 ต่อจากสมเด็จพุฒาจารย์ (พุก) อย่างไรก็ตาม ในการปฏิสังขรณ์วัดไร่ขิงในสมัยท่านอยู่ประมาณปี พ.ศ. 2427 หรือ 2453 เป็นต้นมา

     สำหรับชื่อวัดนั้น มีเรื่องเล่าว่า พื้นที่วัดในอดีตมีชาวจีนปลูกบ้านอาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมากและนิยมปลูกขิงกันอย่างแพร่หลาย จนเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนในแถบนี้ว่า “ไร่ขิง” ต่อมา เมื่อมีชุมชนหนาแน่นมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการสร้างวัดเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ดังนั้น วัดจึงได้ชื่อตามชื่อของหมู่บ้านหรือชุมชนว่า “วัดไร่ขิง”

      ในราวปี พ.ศ. 2446 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เสด็จตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน สมเด็จฯ ได้เสด็จมาที่วัดไร่ขิง และทรงตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดมงคลจินดาราม” ทั้งทรงใส่วงเล็บชื่อเดิมต่อท้ายจึงกลายเป็น “วัดมงคลจินดาราม (ไร่ขิง)” เมื่อเวลาผ่านพ้นมานานและคงเป็นเพราะความกร่อนของภาษาจีนทำให้วงเล็บหายไป คงเหลือเพียงคำว่า “ไร่ขิง” ต่อท้ายคำว่า “มงคลจินดาราม” จึงต้องเขียนว่า “วัดมงคลจินดาราม-ไร่ขิง” แต่ในทางราชการยังคงใช้ชื่อเดิมเพียงว่า “วัดไร่ขิง” สืบมาจนทุกวันนี้
ประวัติหลวงพ่อวัดไร่ขิง
องค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ ประดิษฐานอยู่บนฐานอยู่บนฐานชุกชี 5 ชั้น เบื้องหน้าผ้าทิพย์ปูทอดลงมาองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในอุโบสถ หันพระพักตร์ไปทางทิศอุดร (ทิศเหนือ) ซึ่งหน้าวัดมีแม่น้ำนครชัยศรีหรือแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน จากหนังสือประวัติของวัดไร่ขิงได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ได้อัญเชิญมาจากวัดศาลาปูน โดยนำล่องมาทางน้ำด้วยการทำแพไม้ไผ่หรือที่เรียกกันว่าแพลูกบวบรองรับองค์พระปฏิมากรณ์ เมื่อถึงหน้าวัดไร่ขิงจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ภายในอุโบสถ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดีจึงมีประชาชนจำนวนมากมาชุมนุมกัน ในขณะที่อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นจากแพ สู่ปะรำพิธีได้เกิดอัศจรรย์แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป ความร้อนระอุในวันสงกรานต์ก็บังเกิดมีเมฆดำมืดทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนอง และบันดาลให้มีฝนโปรยลงมาทำให้เกิดความเย็นฉ่ำและเกิดความปิติ ยินดีกันโดยทั่วหน้า ประชาชนที่มาต่างก็พากันตั้งจิตรอธิษฐานเป็นหนึ่งเดียวกัน ว่า “หลวงพ่อจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนร้ายคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหารฉะนั้น” ดังนั้น วันดังกล่าวที่ตรงกับวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของคนไทย ทางวัดจึงได้ถือเป็นวันสำคัญ และได้จัดให้มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปีหลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ตำนานหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้นจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา หรือที่เรียกว่า "มุขปาฐะ" มีหลายตำนาน ดังนี้

ตำนานที่ 1 ครั้งเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(พุก)ชาวเมืองนครชัยศรี ได้มาตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน ได้เข้าไปในพระอุโบสถวัดไร่ขิง หลังจากกราบพระประธานแล้ว มีความเห็นว่าพระประธานมีขนาดเล็กเกินไป จึงบอกให้ท่านเจ้าอาวาสพร้อมชาวบ้านไปอัญเชิญมาจากวัดศาลาปูนฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยวางลงบนแบบไม้ไผ่และนำล่องมาตามลำน้ำและอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 วันสงกรานต์พอดี

ตำนานที่ 2 วัดไร่ขิงสร้างเมื่อปีกุน พุทธศักราช 2394 ตรงกับปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 3 ต้นปี ในรัชการที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก)ซึ่งเป็นชาวเมืองนครชัยศรี ในขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะที่ "พระธรรมราชานุวัตร" ปกครองอยู่ที่วัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้กลับมาสร้างวัดที่บ้านเกิดของตนที่ไร่ขิง เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จแล้วจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูป

สำคัญองค์หนึ่งจากกรุงเก่า ( จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ) มาเพื่อประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถแต่การสร้างยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ท่านได้มรณภาพเสียก่อน ส่วนงานที่เหลืออยู่พระธรรมราชานุวัตร(อาจ จนฺทโชโต) หลานชายของท่านจึงดำเนินงานต่อจนเรียบร้อย และบูรณะดูแลมาโดยตลอดจนถึงแก่มรณภาพ

ตำนานที่ 3 ตามตำนานเป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับมีพระพุทธรูปลอยน้ำมา 5 องค์ก็มี 3 องค์ก็มีโดยเฉพาะในเรื่องที่เล่าว่ามี 5 องค์นั้น ตรงกับคำว่า " ปัญจภาคี ปาฏิหาริยกสินธุ์โน " ซึ่งได้มีการเล่าเป็นนิทานว่า ในกาลครั้งหนึ่ง มีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน ได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ชั้นโสดาบัน มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมากได้พร้อมใจกันตั้งสัตย์อธิษฐานว่า เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยให้สัตว์โลกได้พ้นทุกข์ แม้จะตายไปแล้ว ก็จะขอสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้ได้พ้นทุกข์ต่อไปจนกว่าจะถึงพระนิพานครั้งพระอริยบุคคลทั้ง 5 องค์ ได้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าไปสถิตในพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์จะมีความปรารถนาที่จะช่วยคนทางเมืองใต้ที่อยู่ติดแม่น้ำให้ได้พ้นทุกข์ จึงได้พากันลอยน้ำลงมาตามลำน้ำทั้ง 5 สาย เมื่อชาวบ้านตามเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำเห็นเข้า จึงได้อัญเชิญและประดิษฐานไว้ตามวัดต่างๆ มีดังนี้

พระพุทธรูปองค์ที่ 1 ลอยไปตามแม่น้ำบางปะกง ขึ้นสถิตที่วัดโสธรวรวิหาร เมืองแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา เรียกกันว่า "หลวงพ่อโสธร"

พระพุทธรูปองค์ที่ 2 ลอยไปตามแม่น้ำนครชัยศรี (ท่าจีน)ขึ้นสถิตที่วัดไร่ขิงเมืองนครชัยศรี เรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดไร่ขิง"
พระพุทธรูปองค์ที่ 3 ลอยไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสถิตที่วัดบางพลี เรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดบางพลี" แต่บางตำนานก็ว่า หลวงพ่อวัดบางพลีเป็นองค์แรกในจำนวน 5 องค์ จึงเรียกว่า "หลวงพ่อโตวัดบางพลี "
พระพุทธรูปองค์ที่ 4 ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นสถิตที่วัดบ้านแหลม เมืองแม่กลอง เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม"
พระพุทธรูปองค์ที่ 5 ลอยไปตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นสถิตที่วัดเขาตะเคราเมืองเพชรบุรี เรียกว่า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา"

ส่วนตำนานของเมืองนครปฐมนั้นเล่าว่า มีพระ 3 องค์ ลอยน้ำมาพร้อมกัน และแสดงปาฏิหาริย์จะเข้าไปยังบ้านศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ จึงได้เรียกตำบลนั้นว่า "บางพระ" พระพุทธรูป 3 องค์ลอยไปจนถึงปากน้ำท่าจีนแล้วกลับลอยทวนน้ำขึ้นมาใหม่ จึงเรียกตำบลนั้นว่า "สามประทวน" หรือ "สัมปทวน" แต่เนื่องจากตำบลที่ชาวบ้านพากันไปชักพระขึ้นฝั่งเพื่อขึ้นประดิษฐาน ณ หมู่บ้านของตน แต่ทำไม่สำเร็จ ต้องเปียกฝนและตากแดดตากลมจึงได้ชื่อว่า "บ้านลานตากฟ้า" และ "บ้านตากแดด" ในที่สุดพระพุทธรูปองค์แรกจึงยอมสถิต ณ วัดไร่ขิงเรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดไร่ขิง" ส่วนองค์ที่ 2 ลอยน้ำไปแล้วสถิตขึ้นที่วัดบ้านแหลมจังหวัดสมุทรสงคราม เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" และองค์ที่ 3 ลอยตามน้ำไปตามจังหวัดเพชรบุรี แล้วขึ้นสถิตที่วัดเขาตะเครา เรียกว่า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น